Last updated: 27 Jul 2022 | 790 Views |
การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม
DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC)
Mr.Kittichote Supakumnerd March 02, 2022
กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม, DIPROM ITC
นายกิตติโชติ ศุภกำเนิด
วิศวกรชำนาญการพิเศษ
กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
บทคัดย่อ
การดำเนินการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม พบว่าผู้ประกอบการเองยังไม่สามารถยกระดับกระบวนการผลิตให้ทันสมัยตอบโจทย์ตามแนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสำรวจข้อมูลระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยเองที่ยังมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ Industry 2.0 – 3.0 สาเหตุเนื่องมาจากยังไม่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เท่าที่ควร กระบวนการผลิตก็ใช้วิธีแบบเดิมคือยังพึ่งพาการใช้แรงงานคนหรือเทคโนโลยีเก่าในกระบวนการผลิต ซึ่งยังไม่ช่วยเพิ่ม Productivity และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงมากนัก ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ท างานในลักษณะของการรับจ้างผลิต (OEM) และยังแปรรูปผลิตภัณฑ์ขั้นต้นทั่วไป ไม่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงหรือมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตัวเอง อีกทั้งยังขาดการบริหารการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมการผลิตแบบบูรณาการที่นำผลการศึกษาไปผลิตเป็นชิ้นงานต้นแบบ การออกแบบเพื่อการผลิตการทดสอบตามมาตรฐานและการทดสอบตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกระบวนการที่กล่าวทั้งหมดนี้ มีขั้นตอนมากและใช้งบประมาณค่อนข้างสูงทำให้การดำเนินการเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นแนวทางที่ดำเนินการในการยกระดับอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นสามารถดำเนินการได้โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาระบบการผลิตที่ใช้เครื่องจักรที่มีนวัตกรรมการนำระบบอัตโนมัติ (Automation System) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตกระบวนการทั้งหมดนี้สามารถพัฒนาได้โดยเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดแนวคิดในการปรับปรุงกระบวนการผลิต
และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการทดลองทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยนำงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมกับนวัตกรรมไปพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สอดรับความต้องการตลาดทั้งภายในและภายนอกซึ่งการดำเนินงานจะมีการประสานงานและร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตแบบบูรณาการรวมทั้งสาธิตและฝึกอบรมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การให้บริการเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ เพื่อสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังมีการทดสอบตลาดเพื่อหาช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กับหน่วยงานเครือข่ายและเพื่อให้การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยร่วมดำเนินการอื่นๆ ไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมและสอดรับกับนโยบายรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้นกระบวนการทำงานจึงเริ่มต้นตั้งแต่การทำการประเมินภาพรวมของสภาวะอุตสาหกรรมการผลิตไทยพร้อมทั้งศึกษารูปแบบแนวการการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ประเทศญี่ปุ่นและประเทศที่มีการนำวิธีแบบ Turn-Key ในอุตสาหกรรม 4.0 ไปปรับใช้ เช่น สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมกันยกระดับกระบวนการผลิต , พัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม มีการร่วมดำเนินการออกแบบและพัฒนาการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อาศัยกลไกความร่วมมือต่างๆ การเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เพื่อหาทางตอบโจทย์และพัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
นโยบายประเทศไทย 4.0
เน้นในเรื่องการพัฒนาสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกลไกประชารัฐทำให้ประเทศก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 อันเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในยุคที่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม (Mass Production) ทำงานในลักษณะของการทำมากได้น้อย เน้นการแข่งขันด้วยราคาและค่าแรงที่ต่ำส่งผล ให้ติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลางจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าและบริการ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมรวมถึงการค้าและบริการ ให้มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อให้ธุรกิจทำน้อยได้มาก
Mr.Kittichote Supakumnerd March 02, 2022
กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม, การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม, DIPROM ITC